เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Code of Best Practices) บริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555 ซึ่งกำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยล่าสุด มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯและบริษัทย่อย และเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพของฝ่ายจัดการ อันจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นในกลุ่มผู้ถือหุ้นผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวโดยรวม
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2557 ณ วันที่ 21 เมษายน 2557 มีมติอนุมัตินโยบายการกำกับดูแลกิจการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีข้างต้นตามหลักการ ดังนี้
1.สิทธิของผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิ และความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นในการได้รับข้อมูลของบริษัทฯ และบริษัทย่อยอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และเท่าเทียมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบาย ดังนี้
- บริษัทฯ จะจัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมตามวาระต่างๆ อย่างเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหุ้นใช้ประกอบการพิจารณา โดยจะจัดส่งเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น 14 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้ บริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระ หรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะ ที่บริษัทฯ ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม
- อำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าร่วมประชุม ทั้งในเรื่องสถานที่ และเวลาที่เหมาะสม
- ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะพิจารณาและลงคะแนนเรียงตามวาระที่กำหนด โดยไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ หรือเพิ่มวาระการประชุมในการประชุมอย่างกะทันหัน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเท่าเทียมกันในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสอบถาม แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ และกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อตอบข้อซักถามในที่ประชุมด้วย
- บริษัทฯ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การนับคะแนนและแสดงผล เพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งให้มีบุคคลที่เป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับ หรือตรวจสอบคะแนนเสียงในการประชุมสามัญ และวิสามัญผู้ถือหุ้น เปิดเผยให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
- เพิ่มช่องทางในการรับทราบข่าวสารของผู้ถือหุ้นผ่านทาง Website ของบริษัทฯ โดยนำข่าวสารต่างๆ และรายละเอียดไว้ที่ Website ของบริษัทฯ โดยเฉพาะหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นให้เผยแพร่ก่อนวันประชุมล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดข้อมูลระเบียบวาระการประชุมได้อย่างสะดวก
2.การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีการปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบาย ดังนี้
- กำหนดให้จัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมในวาระต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนการประชุม 14 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น
- ให้เพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเองโดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คนเข้าร่วมประชุม และลงมติแทนได้และแจ้งรายชื่อกรรมการอิสระดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
- ให้ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นชาวไทย หรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ
- บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลภายในโดยจัดทำจริยธรรมธุรกิจ เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งได้ครอบคลุมการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของพนักงานและผู้บริหารรวมถึงได้กำหนดโทษเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล หรือการนำข้อมูลของบริษัทฯ และบริษัทย่อยไปใช้ เพื่อประโยชน์ส่วนตนไว้แล้ว ตามนโยบายการป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์
3.บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทฯ และบริษัทย่อยตระหนัก และรับรู้ถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายในได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องให้ทุกกลุ่มมีสิทธิได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อยได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างกำไรให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับบริษัทฯ และบริษัทย่อยโดยมีการกำหนดนโยบาย ดังนี้
นโยบายและแนวปฎิบัติต่อพนักงาน
บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้ให้ความสำคัญต่อพนักงาน เนื่องจากเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยให้ได้รับการดูแลทั้งในด้านโอกาสการทำงาน ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้ายตลอดจนการพัฒนาศักยภาพ และการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน อย่างเพียงพอ เหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว จึงมีหลักปฎิบัติ ดังนี้
- ปฎิบัติต่อพนักงานและลูกจ้างด้วยความสุภาพและเป็นธรรม
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่พนักงาน
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในสถานที่ทํางานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตของพนักงานตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และของพนักงานให้ปลอดภัยอยู่เสมอ
- การแต่งตั้ง และโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัล และการลงโทษพนักงาน บริษัทฯ และบริษัทย่อย จะกระทําด้วยความเสมอภาค สุจริตใจ เที่ยงธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมของพนักงานนั้นๆ
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาความรู้ ความสามารถอย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
นโยบาย และแนวปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ และบริษัทย่อยระลึกอยู่เสมอว่าผู้ถือหุ้นคือเจ้าของกิจการและบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวจึงกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะพยายามสร้างความเจริญเติบโต เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดี
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการรับทราบข้อมูลที่จําเป็นเพื่อใช้ในการประเมินการบริหารงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการอย่างถูกต้อง ตามความจริงรวมทั้งรายงานฐานะการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยต่อผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ตามหลักสากลอันเป็นที่ยอมรับของตลาดเงินทุนในประเทศ และต่างประเทศ
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะบันทึกรายการทางบัญชีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบและผู้สอบบัญชีอิสระของบริษัทฯ
นโยบาย และแนวปฎิบัติต่อลูกค้า
บริษัทฯ และบริษัทย่อยตระหนักถึงความสำคัญของลูกค้าจึงได้กำหนดนโยบายในการปฏิบัติต่อลูกค้าดังนี้
- บริการลูกค้าด้วยความสุภาพมีความกระตือรือร้น พร้อมให้การบริการต้อนรับด้วยความจริงใจเต็มใจตั้งใจ และใส่ใจดูแลผู้รับบริการดุจญาติสนิท บริการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
- รักษาความลับของลูกค้า และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
- ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์แก่ลูกค้า เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับบริการโดยไม่มีการโฆษณาเกินความเป็นจริงที่เป็นเหตุให้ลูกค้าเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพหรือเงื่อนไขใดๆ ของบริการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการให้บริการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด
นโยบาย และแนวปฎิบัติต่อคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้า
บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะประกอบธุรกิจอย่างซื่อตรง มีจริยธรรม และคุณธรรม เป็นแนวทางการประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง และยั่งยืน ดังนั้นบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะยึดถือการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้กับธุรกิจการค้าอย่างเคร่งครัด โปร่งใส มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบ
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยประสงค์ที่จะให้การจัดหาสินค้า และบริการเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และมีจริยธรรม โดยดำเนินการภายใต้หลักการดังนี้
- มีการแข่งขันจากผู้เสนอราคา และการคัดเลือกอย่างเหมาะสมและเที่ยงธรรม
- มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้า
- จัดทํารูปแบบสัญญาที่เหมาะสมและเป็นสากล
- จัดให้มีระบบการจัดการและการติดตามการปฏิบัติตามสัญญา เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยมุ่งหมายที่จะพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าที่มีวัตถุประสงค์ ชัดเจนในเรื่องคุณภาพทางด้านเทคนิค คุณค่าของสินค้าและบริการที่คู่ควรกับมูลค่าเงิน และมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยไม่มีนโยบายให้กรรมการและพนักงานรับผลประโยชน์ใดๆ เป็นส่วนตัวจาก คู่ค้า
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะประพฤติปฎิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะไม่กล่าวหาในทางร้ายแก่คู่แข่งทางการค้าโดยปราศจากซึ่งมูลแห่งความจริง
นโยบาย และแนวปฎิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายที่จะประกอบธุรกิจ โดยคํานึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ และจะปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้บังคับอยู่
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสํานึก และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับบุคคล และหน่วยงานอื่น เพื่อให้มีการรักษาสภาพแวดล้อมปรับปรุงการผลิต และการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะเคารพต่อขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
- บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ กับชุมชนที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยดําเนินธุรกิจอยู่ตามควรแก่กรณี
4.การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
คณะกรรมการบริษัทมุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใสทั้งข้อมูลของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลทั่วไปที่มิใช่ข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว บริษัทฯ จะทำการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯต่อผู้ถือหุ้น และสาธารณชนผ่านช่องทางและสื่อการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Website ของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อรายงานทางการเงินเพื่อให้แสดงถึงสถานะทางการเงินและผลการประกอบการที่แท้จริงของบริษัทฯ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วน และเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยแต่ละท่านตลอดจนบทบาท และหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทฯ ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และจะเปิดเผยค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในรายงานประจำปีของบริษัทฯ (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)
5.ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อย การกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามเป้าหมายและแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ข้อบังคับของบริษัทฯ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเป็นไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทจะดูแลให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย นโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน แผนกลยุทธ์ แผนงาน และงบประมาณประจำปีของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยคณะกรรมการบริษัทจะร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจร่วมกันก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติ และติดตามให้มีการบริหารงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะยึดถือแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมาย ภารกิจ แผนธุรกิจ และงบประมาณของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ตลอดจนกำกับดูแลให้คณะผู้บริหารบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลภายใต้กรอบของกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น มติที่ประชุมคณะกรรมการด้วยความรับผิดชอบซื่อสัตย์สุจริตระมัดระวังตามหลักการข้อพึงปฏิบัติที่ดี เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่กิจการและความมั่นคงสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัทมีทั้งหมด 9 ท่าน โดยแบ่งเป็นกรรมการบริษัทที่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 ท่าน กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 3 ท่าน และเป็นกรรมการอิสระจำนวน 4 ท่าน ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนกรรมการอิสระเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการบริษัททั้งหมดโดยกรรมการอิสระเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสอบทานการบริหารงานได้อย่างเป็นอิสระ
- บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท
บริษัทฯ กําหนดให้กรรมการบริษัทปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดีสําหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน (Code of Best Practice) ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริษัทต้องเข้าใจ และทราบถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน และต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคํานึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นเป็นสําคัญ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กําหนดนโยบาย เป้าหมายการดําเนินธุรกิจ แผนธุรกิจตลอดจนงบประมาณของบริษัทฯ และกํากับดูแลให้ฝ่ายจัดการดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายแผนงานและงบประมาณที่กําหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นโดยรวม
- การประชุมคณะกรรมการบริษัท
- กําหนดให้มีการประชุมอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี และมีการประชุมวาระพิเศษเพิ่มตามความจําเป็น ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน โดยเลขานุการบริษัท ทําหน้าที่จัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมระเบียบวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุมล่วงหน้า เพื่อให้กรรมการมีเวลาเพียงพอสำหรับการศึกษาข้อมูลก่อนเข้าประชุม และจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะครบเป็นองค์ประชุม
- ประธานกรรมการบริษัท ทําหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม มีหน้าที่ดูแล จัดสรรเวลาแต่ละวาระให้อย่างเพียงพอ โดยที่กรรมการแต่ละท่านมีอิสระในการแสดงความเห็นในประเด็นที่สําคัญโดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม
- ในการประชุมกรรมการผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยนัยสําคัญในเรื่องที่พิจารณาต้องออกจากที่ประชุมระหว่างการพิจารณาเรื่องนั้นๆ และไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในเรื่องดังกล่าว
- การลงมติให้ใช้เสียงข้างมาก และหากมีกรรมการคัดค้านมติดังกล่าว ให้บันทึกคําคัดค้านไว้ในรายงานการประชุม
- ในการพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด กรรมการมีสิทธิขอดูหรือตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้
- เลขานุการบริษัท ทําหน้าที่ในการจดบันทึกและจัดทํารายงานการประชุม ภายใน 14 วัน จัดเก็บรายงานการประชุม เอกสารประกอบการประชุม สนับสนุนติดตามให้คณะกรรมการบริษัทสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ค่าตอบแทน
บริษัทฯ กำหนดค่าตอบแทนกรรมการบริษัทในอัตราที่เหมาะสม โดยกำหนดองค์ประกอบเป็น 2 ส่วนคือ ค่าตอบแทนประจำ และค่าเบี้ยประชุม โดยคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่พิจารณากำหนดค่าตอบแทนกรรมการบริษัทในเบื้องต้น เพื่อนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติเป็นประจำทุกปี โดยจะพิจารณาจากแนวปฎิบัติของอุตสาหกรรม ผลประกอบการและขนาดธุรกิจของบริษัทฯ และความรับผิดชอบ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของกรรมการที่บริษัทฯ ต้องการ
- การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงกรรมการบริษัท กรรมการตรวจสอบ ผู้บริหาร และเลขานุการบริษัท เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การเข้าอบรมหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association: IOD)
การประเมินผลตนเองของคณะกรรมการ
บริษัทฯ มีนโยบายจัดให้คณะกรรมการบริษัท มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปีเพื่อช่วยให้คณะกรรมการได้มีการพิจารณาทบทวนผลงาน โดยเป็นการแสดงความเห็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทั้งคณะว่าได้กำหนด, ปฏิบัติ, ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งการประเมินผลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะกรรมการบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีการวิเคราะห์ประเด็นอุปสรรคต่างๆ และหาข้อสรุปเพื่อกำหนดแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการบริษัท
โดยเลขานุการบริษัทจะนำส่งแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มตามแนวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งให้กรรมการทุกท่านประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีทั้งแบบคณะและรายบุคคล ซึ่งภายหลังที่กรรมการแต่ละท่านประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำส่งแบบประเมินกลับมายังเลขานุการบริษัท เพื่อรวบรวมผลคะแนนการประเมินของกรรมการแต่ละท่านและสรุปผลวิเคราะห์การประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทในรอบปี และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น โดย ในปี 2560 บริษัทได้จัดให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองเป็นครั้งแรก ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินผลจะคิดเป็นร้อยละจากคะแนนเต็มในแต่ละข้อ ดังนี้
- คะแนนเท่ากับร้อยละ 100 = ดีเยี่ยม
- ช่วงร้อยละ 81 – 99 = ดีมาก
- ช่วงร้อยละ 61 – 80 = ค่อนข้างดี
- ช่วงร้อยละ 41 – 60 = พอใช้
- ช่วงร้อยละ 0 – 40 = ควรปรับปรุง
- รายงานประจำปีของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินของบริษัทฯ และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นการจัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป โดยเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติสม่ำเสมอและใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังในการจัดทำ รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และเป็นผู้ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท